...

December 17, 2006

ภาษาไทยน่ารู้


วันนี้วิญญาณอาจารย์แม่เข้าสิง จึงขอนำเสนอซักเล็กน้อย...

เชื่อหรือไม่..คำว่า "โหลน" ที่คนไทยส่วนใหญ่แปลว่า ลูกของเหลน
ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน!
แท้จริงแล้ว คำที่ใช้เรียกลูกของเหลน คือ "ลื่อ"
โปรดฟังอีกครั้ง ลื่อ มิใช่ โหลน!

ลูกของลูก เรียก หลาน
ลูกของหลาน เรียก เหลน
ลูกของเหลน เรียก ลื่อ
ลูกของลื่อ เรียก ลืบ
ลูกของลืบ เรียก ลืด
ลูกของลืด เรียก ?? (ใครรู้วานบอก)

โปรดช่วยกันเผยแพร่ความรู้



สวัสดี

11 Comments:

Anonymous Anonymous said...

สวัสดีค่ะ

ขออภัยที่โผล่มาแบบคนแปลกหน้าและโพสท์แบบไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหน้าอีกแล้วนะคะ

เมื่อวานนี้ ดิฉันบังเอิญผ่านเข้ามาอ่านบล็อกของคุณคิวว์ แล้วรุ้สึกถูกอกถูกใจกับมุมมองและภาษาของคุณเป็นพิเศษ ก็เลยอ่านย้อนไปเรื่อย ๆ จนถึงหัวข้อ Destination ของเมื่อเดือนสิงหาฯ

ดิฉันก็เลยอยากชักชวนให้ไปคอร์สวิปัสสนาดู เพราะดิฉันเคยไปแล้วเห็นว่าดี...

แค่นั้นเองค่ะ

ถ้าหากดิฉันทำตัวลับ ๆ ล่อ ๆ ไม่มีมารยาทหรือไร้ความน่าเชื่อถือเกินไป ขออภัยด้วยค่ะ

ปล.คอร์สวิปัสสนาที่คุณคิวว์เคยไป ของอาจารย์โกเอ็นก้ารึป่าวคะ ถ้าไม่ใช่ ลองใหม่ที่นี่ก็ได้นะคะ ^^


Anonymous คนเมื่อวาน

Sun Dec 17, 08:02:00 pm  
Blogger คิวว์ said...

ยินดีที่ได้รู้จักครับ และขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ
ผมเชื่อว่าคุณปรารถนาดีจึงได้แนะนำคอร์สวิปัสนานี้มาให้กับผม
เพียงแต่ผมเคยมีอดีตฝังใจอันไม่ชวนให้รื่นรมย์นักจากการวิปัสนากรรมฐาน ณ ที่แห่งหนึ่ง
เพราะที่นั่นตัวตนของผมหายไป และผมต้องใช้เวลาเรียกสติ
ความหวัง ความศรัทธา ความเชื่อมั่น กลับคืนมาถึง 3 เดือนเต็มๆ
ผมไม่อาจกล่าวได้ว่ากรรมฐานทุกที่จะเป็นเหมือนกับที่ที่ผมเคยประสบมา
ผมเชื่อว่าบางทีคอร์สของอาจารย์โกเอ็นก้าที่คุณได้แนะนำมา
คงจะทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป

ผมเชื่อเช่นนั้น

เพียงแต่ ตอนนี้ผมยังไม่กล้าที่จะพิสูจน์ความเชื่อนี้
เท่านั้นเอง



ขอบคุณมากครับ
และขอกล่าวอีกครั้งว่า "ยินดีที่ได้รู้จัก" ^^

Sun Dec 17, 09:10:00 pm  
Anonymous Anonymous said...

โหๆๆๆๆ น่ายินดีที่โดนชมแบบซึ่งๆหน้า

ผมแค่เจอด่าลับหลังก็ปลื้มจะแย่

ผมว่าคำว่าโหลนมันฟังแล้วไหลไปตามตัวสะกดดี

ลูกหลานเหลนลื่อภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย

เพลงนี้ไม่น่าดังติดหูได้เท่าที่ฟังๆกันนะ

อีกอย่าง ไม่ต้องนับถึงลืบ ลืด ลาบ เลือกระมังครับ

ลำพังรุ่นหลังผมไม่กี่ปี ก็พูดไทยกันไม่ค่อยถูกแล้ว

จาเลียกมานห้ายเม่ยลูกกาเดือกทามมาย

Sun Dec 17, 09:49:00 pm  
Anonymous Anonymous said...

"บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย"

มิใช่แค่คนไทยส่วนใหญ่นาครับพี่น้องครับ แม้แต่เพลงที่ถือได้ว่าเป็นเพลงปลุกใจประจำชาติไทยก็ยังมีคำนี้อยู่เลย เช่นนี้แล้วอาจารย์แม่จะมาบ่นอะไร

ภาษาที่ยังไม่ตายมันก็เหมือนปลาที่ดิ้นได้ ตราบใดชาติไทยยังไม่สิ้น ปลาตัวนี้มันก็จะดิ้นกระแด่วๆต่อไป แม้ว่าน้ำมันจะเหือดแห้งไปทุกทีๆก็เหอะ

หรือว่าเราจะเปลี่ยนมาร้องว่า

"ลูกหลานเหลนลื่อภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย"

กันหละครับพี่น้องครับ

จรลี(ไม่มีในพจนานุกรมฯ)

Sun Dec 17, 11:21:00 pm  
Blogger คิวว์ said...

ฤาว่าเพลงนี้มันจะเป็นต้นตอของคำว่า "โหลน" ??

น่าสนใจๆ

..
..

ลองค้นจาก google ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก

เพลง "เราสู้" ที่ว่านี้เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๔ ของในหลวงรัชกาลที่9 !!

พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ ๔ บท ใน พ.ศ. ๒๕๑๖

คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติ บัญญัติ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอล เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย

เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลง "เราสู้" ก็ทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตี บรรทัด ๕ เส้น เพื่อทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง

เมื่อแล้วเสร็จก็พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ซึ่งกำลังบรรเลง อยู่ในงานวันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน

จากนั้นได้ทรงนำกลับไป แก้ไขก่อนจะพระราชทานออกมาให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง และทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ที่ทรงจากคำร้อง

(ข้อมูลจาก : http://web.ku.ac.th/king72/2530/rao_soo.html)

ตกลงไอ้คำว่า "โหลน" นี่มันชักจะยังไงๆอยู่นา

Wed Dec 20, 02:19:00 pm  
Blogger คิวว์ said...

เนื้อเพลงเต็มๆ

"เราสู้"


บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ
ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา
หน้าที่เรารักษาสืบไป

ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า
จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย
มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย

ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น
จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย
ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู

บ้านเมืองเราเราต้องรักษา
อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู
เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

Wed Dec 20, 02:21:00 pm  
Blogger คิวว์ said...

โอ๊ยย ยิ่งค้นคำว่า ลื่อ ผมก็ยิ่งข้องใจ

ขออนุญาตเอามาใส่ไว้ในคอมเม้นท์ละกัน ใครสนใจก็เชิญอ่าน ใครไม่สนใจก็ขอให้ข้ามไป ถือว่าเป็นเพียงความคิดเห็นเพิ่มเติมของไอ้บ้าคนหนึ่งละกัน

ในศัพท์กฏหมาย บางทีก็ใช้คำว่า "ลื้อ" บางทีก็ใช้ "ลื่" บางทีก็ใช้ "ลื่อ" และบางทีก็ "หลื้" ตกลงยังไงเนี่ย?

ตัวอย่าง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ มาตรา ๒๙

"บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าภริยาสามีก็ดี ผู้บุรพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด ก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื้อ ก็ดี ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคลผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้"


กฎ"พระไอยการลักษณมรดก" ข้อ ๓๗ มาตรา๑

"ลูกหลานเหลนลี่ไดบวดเป็นสามเณร แลบิดรมานดาปู่หญ้าตายายถึงแก่มรณภาพไซ้ ควรให้ได้ทรัพยส่วนแบ่งปัน ตามพระราชกฤษฎีกาให้เป็นจตุปใจยแก่สามเณรนั้น"

กฏ"พระไอยการลักษณมรดก" ข้อ ๑

"ถ้าแลผู้มีบันดาศักดิตั้งแต่นา ๔๐๐ ขึ้นไปถึงแก่มรณภาพและจะแบ่งปันทรัพยมรดกเป็นส่วน ซึ่งจะได้แก่บิดามานดาแลญาติพี่น้องบุตรภรรยาหลานเหลนลื่อนั้น โดยได้รับราชการแลมิได้รับราชการ แลมีบำเน็จบำนาญ แลหาบำเน็จบำนาญมิได้ ให้ทำเปนส่วนดั่งพระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้นี้"

ส่วนที่เขียนเป็น "หลื้" (ห นำ ล สระอือ ไม้โท) นั้น มีปรากฏอยู่ในข้อ ๒๘ วรรค ๒ และ ๓ ดังนี้

"อนึ่งถ้าพี่น้องลูกหลานเหลนหลื้สาขาญาติไปรับราชการอยู่ณะเมือง แล แขวงจังหวัดไซ้ ให้แบ่งทรัพยบันดาส่วนซึ่งจะได้นั้นไว้ ณะพระคลังก่อน ถ้าผู้นั้นมาแต่ราชการ แล้วจึ่งเอาทรัพยซึ่งไว้ ณะพระคลังนั้นให้"

..
..

ผู้ใดรู้วานบอกทีว่า บัดนี้ได้มีการชำระคำให้ตรงกันหรือยัง?

ผมข้องใจ..

(ข้อมูลจากบทความของคุณ จำนงค์ ทองประเสริฐ )

Wed Dec 20, 02:35:00 pm  
Blogger คิวว์ said...

ถึง คนข้างบน

จากการค้นคำว่า "จรลี" ในราชบัณฑิตยสถานฉบับอิเล็กหรอนิค ผมพบคำนี้นะ

.ค้น : จรลี
คำ : จรลี
เสียง : จอ-ระ-ลี
คำตั้ง : จร ๒; จร-
ชนิด : ก.
ที่ใช้ : กลอน
ที่มา :
นิยาม : เดินเยื้องกราย.
ภาพ :
อ้างอิง :
ปรับปรุง : 98/4/2


อ้างอิง : http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html

Wed Dec 20, 02:46:00 pm  
Blogger verdiinpink said...

เออ สงสัยวิญญาณอาจารย์แม่เข้าสิงจริงๆ

Wed Dec 20, 07:04:00 pm  
Anonymous Anonymous said...

ชั้นว่าหนาวแล้วฟุ้งซ่านมากกว่า

Thu Dec 21, 05:34:00 pm  
Blogger คิวว์ said...

หืมมม หนาวแล้วฟุ้งซ่านออกมาเป็นความรู้ ดีกว่าฟุ้งซ่านแล้วกินทั้งวันอย่างคนบางคนนา

Thu Dec 21, 10:23:00 pm  

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home