...

February 05, 2007

The Right to Read by Richard Stallman


เฮียอารมณ์ดี
เจอบทความถูกใจเข้า
เลยเอามาแปลให้ได้อ่านกัน
แปลดีมั่ง ไม่ดีมั่งก็ว่ากันไป ~
เอาน่า เอาความอยากแบ่งปันเรื่องที่อ่านเป็นที่ตั้ง :)
.
.
.
.
- The Right to Read -

บทความตีพิมพ์ใน Communications of the ACM ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 1997 (Volume 40 , Mumber 2)

(จาก “The Road To Tycho” รวมบทความ ที่มาของการปฏิวัติลูนาเรียน , ตีพิมพ์ในนครลูนา ปี 2096)

หนทางสู่ไทโคของแดน ฮัลเบิร์ต เริ่มต้นขึ้นในมหาวิทยาลัย เมื่อลิสซ่า เลนส์ เอ่ยปากขอยืมคอมพิวเตอร์ไปใช้ คอมพิวเตอร์ของเธอเสีย และหากหายืมไม่ได้เธอจะต้องสอบตกโครงงานกลางภาค ลิสซ่าไม่กล้าเอ่ยปากยืมใครนอกจากแดน

แดนไม่รู้จะทำอย่างไรดี เขาจำต้องช่วยเธอ แต่หากให้ลิสซ่ายืมคอมพิวเตอร์ไป เธออาจจะอ่านหนังสือของเขาก็ได้ การให้ผู้อื่นอ่านหนังสือของเรานอกจากอาจทำให้ติดคุกหลายปีแล้ว แม้แต่การคิดถึงเรื่องแบบนี้ยังทำให้เขาเกิดอาการอกสั่นขวัญหายได้อีกด้วย แดนได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่ประถมเหมือนเด็กคนอื่นๆว่า การแบ่งปันหนังสือเป็นการกระทำที่สกปรกน่าสะอิดสะเอียนและเป็นสิ่งที่ผิด มีแต่โจรเท่านั้นที่จะกระทำแบบนี้

นอกจากนี้แล้วก็ยังเป็นการยากที่ นพซ. หรือ หน่วยพิทักษ์ซอฟต์แวร์ จะพลาดในการจับกุมตัวเขา ในวิชาซอฟต์แวร์แดนเรียนรู้ว่าหนังสือแต่ละเล่มได้รับการเฝ้าระวังลิขสิทธิ์จากหน่วยอนุญาตปฏิบัติการส่วนกลาง ซึ่งจะคอยรายงานว่าหนังสือถูกอ่านเมื่อใด ที่ไหน และใครเป็นผู้อ่าน (ทางหน่วยงานจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อจับกุมกรณีมีการลักลอบอ่าน และยังขายข้อมูลส่วนนี้ให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆอีกด้วย) ในคราวหน้าเมื่อคอมพิวเตอร์ของเขาถูกเชื่อมเข้ากับระบบ หน่วยอนุญาตปฏิบัติการส่วนกลางจะต้องรู้ และเขาในฐานะที่เป็นเจ้าของคงจะได้รับโทษอย่างสูงสุด เนื่องด้วยเหตุที่ไม่พยายามป้องกันการเกิดอาชญากรรมนี้

จริงอยู่ว่าลิสซ่าอาจไม่ได้มีเจตนาจะอ่านหนังสือของเขา เธออาจเพียงต้องการใช้คอมพิวเตอร์ทำข้อสอบกลางภาคเท่านั้น แต่เขารู้ดีว่าลิสซ่ามาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่มีเงินพอสำหรับการเรียนพิเศษ และแทบไม่ต้องพูดถึงค่าธรรมเนียมการอ่านที่จะต้องเสีย การอ่านหนังสือของเขาจึงอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้เธอจบเรียนจบได้ แดนเข้าใจสถานการณ์นี้ดี เพราะตัวเขาเองต้องกู้เงินมาจ่ายค่างานวิจัยทั้งหมดที่อ่าน (ร้อยละสิบของค่าธรรมเนียมการอ่านจะถูกจ่ายให้กับเจ้าของงานวิจัย แดนตั้งใจจะประกอบอาชีพทางวิชาการและเขาก็หวังว่าหากมีการอ้างอิงถึงงานวิจัยของเขามากๆ ก็จะช่วยให้เขามีเงินพอที่จะนำไปจ่ายคืนหนี้ที่กู้ยืมมาได้)

ภายหลัง แดนได้รู้ว่ามีช่วงเวลาสมัยหนึ่งที่ใครๆ ก็สามารถไปยังห้องสมุดและอ่านวารสาร รายงานวิจัย บทความ และหนังสือต่างๆได้โดยไม่ต้องเสียแม้สตางค์แดงเดียว นักศึกษาสามารถอ่านงานเป็นพันๆหน้าได้โดยไม่ต้องได้รับเงินอุดหนุนการอ่านจากรัฐบาลเลย แต่แล้วในช่วงทศวรรษ 1990 ผู้ตีพิมพ์รายงานการวิจัยทั้งแบบแสวงหาและไม่แสวงหากำไรต่างเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการอ่าน และเมื่อถึงปี 2047 ห้องสมุดที่อนุญาตให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมก็กลายเป็นเพียงความทรงจำอันเลือนลาง

จริงอยู่ว่ายังมีหนทางที่จะรอดพ้นสายตาของ นพซ. และหน่วยอนุญาตปฏิบัติการส่วนกลาง แต่นั่นก็ล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น แดนมีเพื่อนที่ร่วมลงเรียนวิชาซอฟต์แวร์ด้วยกันคนหนึ่งชื่อ แฟรงค์ มาร์ตูซซี่ ซึ่งมีโปรแกรมชุดคำสั่งตรวจแก้จุดบกพร่องเถื่อนไว้ในครอบครอง แฟงค์เคยใช้โปรแกรมนี้ทำให้คอมพิวเตอร์ข้ามขั้นตอนการเฝ้าระวังลิขสิทธิ์เมื่อเขาอ่านหนังสือ แต่แฟงค์ปากโป้งบอกให้เพื่อนรู้มากเกินไป เพื่อรางวัลนำจับหนึ่งในนั้นจึงได้แจ้งให้ นพซ. ทราบเรื่อง (นักศึกษาผู้มีหนี้สินล้นพ้นย่อมถูกล่อใจให้ทรยศต่อพวกเดียวกันได้ง่ายๆ) ในปี 2047 แฟงค์จึงต้องติดคุก มิใช่ด้วยข้อหาลักลอบอ่าน แต่ด้วยข้อหามีโปรแกรมชุดคำสั่งตรวจแก้จุดบกพร่องไว้ในครอบครอง

ต่อมา แดนได้รู้ว่ายังมียุคสมัยหนี่งที่ใครๆ ก็สามารถมีโปรแกรมชุดคำสั่งตรวจแก้จุดบกพร่องได้ มีแม้กระทั่งซีดีโปรแกรมฟรี หรือจะดาวโหลดเอาทางเน็ตก็ยังได้ แต่แล้วผู้ใช้ทั่วไปต่างก็ใช้โปรแกรมเหล่านี้เพื่อข้ามขั้นตอนการเฝ้าระวังลิขสิทธิ์ ในที่สุด ตุลาการจึงได้ตัดสินว่าการใช้งานโดยมุ่งหมายเพื่อข้ามขั้นตอนการเฝ้าระวังลิขสิทธิ์ได้กลายเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการใช้โปรแกรม ซึ่งนั้นหมายให้ตัวโปรแกรมกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผู้พัฒนาโปรแกรมนี้จึงถูกส่งเข้าตะราง

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมเมอร์ยังคงจำเป็นต้องใช้โปรแกรมนี้ต่อไป ในปี 2047 ผู้จำหน่ายโปรแกรมนี้เริ่มจำหน่ายเฉพาะโปรแกรมที่ติดรหัสหมายเลขสินค้าให้กับโปรแกรมเมอร์ที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการและมีพันธกรรมเเท่านั้น โปรแกรมชุดคำสั่งตรวจแก้จุดบกพร่องที่แดนเคยใช้ในวิชาซอฟต์แวร์นั้นถูกสงวนไว้ภายใต้ไฟร์วอลล์พิเศษ และจะถูกนำมาใช้เฉพาะในการทำการบ้านวิชานั้นเท่านั้น

เป็นไปได้เหมือนกันที่จะหลีกเลี่ยงการเฝ้าระวังลิขสิทธิ์ ด้วยการติดตั้งเดอเนลของระบบซึ่งได้รับการดัดแปลงลงไปในเครื่อง แดนรู้ว่าเคยมีเคอร์เนลฟรี มีแม้กระทั่งระบบปฏิบัติการให้ใช้ฟรีในช่วงรอยต่อของศตวรรษ แต่ตอนนี้ของพวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และต่อให้มีไว้ในครอบครองก็ไม่อาจติดตั้งลงไปได้หากไม่รู้พาสเวิร์ดรูทของคอมพิวเตอร์ที่ต้องการติดตั้ง และแน่นอนว่าทั้งเอฟบีไอและแผนกบริการของไมโครซอฟต์จะไม่มีทางบอกพาสเวิร์ดเหล่านั้นให้เราทราบเป็นอันขาด

แดนตกลงใจว่าเขาจะไม่ให้ลิสซ่ายืมคอมพิวเตอร์ไปใช้ แต่เขาก็ไม่อาจปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเพราะว่าเขารักเธอ ทุกคราที่ได้พูดคุยกับเธอทำให้เขาสุขใจยิ่ง และตอนนี้เธอเลือกขอความช่วยเหลือจากเขา นั่นอาจหมายความว่า เธอเองก็รักเขาเช่นกัน

แดนตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เขาให้ลิสซ่ายืมคอมพิวเตอร์ไปใช้โดยบอกพาสเวิร์ดของเขาให้เธอทราบ ด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ว่าลิสซ่าจะอ่านหนังสือของเขา แต่หน่วยอนุญาตปฏิบัติการส่วนกลางย่อมคิดว่าเป็นตัวเขาเองที่อ่านหนังสือเหล่านั้น นี่ยังคงเป็นอาชญากรรมแต่ นพซ.จะไม่มีทางรู้เรื่องเหล่านี้ได้เลย นอกเสียจากลิสซ่าจะเป็นผู้รายงานความผิดเหล่านี้เสียเอง

หากทางมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบว่าเขาบอกพาสเวิร์ดของตัวเองให้ลิสซ่ารู้ นั่นจะเป็นการปิดฉากชีวิตนักศึกษาของพวกเขาทั้งสองลง ไม่ว่าลิสซ่าจะนำพาสเวิร์ดนั้นไปใช้เพื่อการใดก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายว่าการแทรงแซงควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์ของนักศึกษาไม่ว่าด้วยทางใดย่อมเป็นเหตุให้ถูกดำเนินการทางวินัยได้โดยไม่จำเป็นว่าการกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำผิดนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเราได้ยากขึ้นทำให้สามารถอ้างได้ว่าเราได้กระทำสิ่งต้องห้ามโดยเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร

โดยปกตินักศึกษามักจะไม่ถูกไล่ออกเพราะเหตุนี้ กล่าวคือพวกเขาจะไม่ถูกไล่ออกตรงๆ แต่พวกเขาก็จะถูกปฏิเสธจากระบบคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งนั่นจะทำให้สอบตกหมดทุกวิชาในที่สุด
ต่อมา แดนได้รู้ว่านโยบายที่ว่านี้เพิ่งถูกบรรญัติขึ้นในทศวรรษที่ 1980 เมื่อครั้งที่นักศึกษาจำนวนมากเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ก่อนหน้านั้นทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายที่ต่างออกไป นั่นคือ จะลงโทษก็ต่อเมื่อมีการกระทำผิดร้ายแรงเกิดขึ้นเท่านั้น หาได้รวมลงโทษการกระทำที่ต้องสงสัยไม่

ลิสซ่าไม่ได้รายงานเรื่องของแดนให้ นพซ. รู้ การตัดสินใจของเขาในครั้งนั้นนำไปสู่การตกลงใจแต่งงานกันในที่สุด และยังก่อให้เกิดคำถามต่อสิ่งที่พวกเขาได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่เริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ สหภาพโซเวียตและข้อจำกัดทางลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้นฉบับรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ต่อมาพวกเขาได้ย้ายถิ่นฐานไปยังนครลูนา และได้รู้จักกับคนอื่นๆที่ต้องการหลีกหนีให้พ้นจากเงื้อมือของ นพซ. และเมื่อขบวนการไทโคได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2062 สิทธิ์สากลในการอ่านก็กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของขบวนการนี้.


Copyright 1996 Richard Stallman Verbatim copying and distribution of this entire article is permitted in any medium without royalty provided this notice is preserved.

อ่านภาคภาษาอังกฤษได้ที่นี่
Author's Note
References
Other Texts to Read


สวัสดี

Labels:

4 Comments:

Blogger PetChu~ said...

อนาคตเป็นงี้ หลอนมากค่ะ ควายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หนังสือยังอ่านกันไม่ได้

Tue Feb 06, 01:29:00 am  
Blogger Murz said...

o___O !?#@!

Tue Feb 06, 10:40:00 pm  
Anonymous Anonymous said...

มองมุมเดียว แคบๆ

คนแต่งหนังสือต้องกินข้าว จ่ายค่าไฟค่าน้ำ ค่าที่พัก และมีของอื่นๆที่อยากได้เป็นภูเขาเลากา

ของต่างๆที่ว่า ถ้าไม่สร้างเอง ก็ต้องใช้เงินซื้อมา หรือมีสินทรัพย์บางอย่างไปแลกเปลี่ยน

แต่ไม่ว่าจะเป็นสร้างเอง หรือใช้เงินซื้อ ก็ต้องมีการลงมือลงแรง เพื่อให้ได้มา

แต่ว่าคนแต่งหนังสือ หรือคนทำวิจัย ก็ต้องเอาเวลาส่วนใหญ่ไปหาข้อมูล แล้วส่วนที่เหลือก็เขียนๆๆ กลั่นออกมาเป็นสาระสนเทศอันมีค่ายิ่ง

แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำอย่างอื่น แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาตังกินข้าว แล้วจะเหลือเวลาแค่ไหนให้หาความสุขใส่ตัวเอง

ถ้าหากหนังสือที่แต่งออกมามีแต่คนเอาไปอ่านฟรีๆ คนแต่งหนังสือก็จนกรอบแห้งตาย เป็นนักเขียนไส้แห้ง เป็นเชคเสปียร์ เป็นครูเพลงจนๆ แม้แต่ข้าวยังไม่มีจะกิน คำสรรเสริญเยินยอหลังจากตายมันกินไม่ได้หรอกเว้ย

แล้วทำไมลิซซ่ามันต้องไปยืมคอมฯแดน ทำไมไม่มีคอมฯสาธารณะให้ใช้ ทำไมไม่มีอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ถ้าเกิดว่าไฟดับทั้งมหาลัยมันคงสอบตกกันทั้งโรงเรียน ถ้าหากคอมฯแดนเจ๊งอีกเครื่องเพราะลิซซ่าซุ่มซ่าม คงจะซวยทั้งคู่ แล้วถ้ายิ่งมีไอ้โรคจิตทำลายคอมฯโผล่มาสักคน มันก็คงซวยกันทั้งมหาลัยอีก

ถ้าในอนาคตเกิดระบบนี้ขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลมันก็คงจะควายมาก ปัญญาอ่อนแบบนี้ควรไปไถนาปลูกข้าวดีกว่า เพราะแม้แต่คนตั้งกฏนี้เองก็ไม่สามารถรักษามันไว้ ได้หรอก เรื่องที่ว่าต้องใช้คอมฯของตัวเองเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระทั้งเพ

หยั่งงี้ในอนาคต คนก็คงต้องมีคอมฯพกติดตัวตลอดเวลาเป็นปัจจัยที่ 6 ที่ 7 แล้วถ้ามันเจ๊งกะทันหัน อาจกลายเป็นคนพิการทางเทกนิคได้ เพราะอะไรๆแม่งก็ต้องใช้คอมฯ

สรุปว่านิยายเรื่องนี้โน้มน้าวใจให้เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้เลยสักกะติ๊ด แล้วถ้าคนไม่เลิกละเมิดลิขสิทธิ์ ในอนาคตอาจไม่มีลิขสิทธิ์ให้ละเมิด คนแต่งหมดกำลังใจกันไปหมด ไปทำอย่างอื่นแล้วรอก๊อปเอาดีกว่า สบายกว่าตั้งเยอะ

จริงป่ะ

Fri Feb 09, 08:22:00 am  
Blogger คิวว์ said...

สรุปว่า
พวกคนที่มาอ่านแล้วตอบๆเนี่ย
เกือบทั้งหมด
เป็นพวกที่อ่านภาษาอังกฤษรู้เรื่องกว่าภาษาไทย
แทบทุกคน
แล้วเฮียจะนั่งแปลทำด๊อยไรเนี่ย
งงตัวเอง
-"-

Mon Feb 12, 10:44:00 pm  

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home